วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง เพราะมีบางท่านเข้าใจประวัติและผลงานของคุณพ่อคลาดเคลื่อน

      ผม นายภูริวัฒน์ มลิวัลย์ บุตรชายคนโตของคุณพ่อพิทูร มลิวัลย์ ในนามครอบครัวของท่านพร้อมทั้งศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่าน มีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ประวัติและผลงานของคุณพ่อผม เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง เพราะมีบางท่านเข้าใจประวัติและผลงานของคุณพ่อคลาดเคลื่อน ซึ่งได้คัดลอกมาจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของคุณพ่อพิทูร มลิวัลย์ และจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้แทรกรายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติม
ผมขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า เมื่อไม่นานมานี้ลูกศิษย์ของคุณพ่อได้เล่าให้ผมฟังว่า ได้มีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างตนว่าเป็นเพื่อนคุณพ่อ กล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีคุณพ่อและลูกๆท่าน ว่า "ลูกชายอาจารย์พิทูร มลิวัลย์เลื่อมใสศรัทธาในตัวโพธิรักษ์ สันติอโศก ไม่ว่าคนในครอบครัวหรือแม้แต่คุณพ่อเองจะว่ากล่าวเท่าใดก็ไม่เชื่อฟัง แม้แต่ในตู้เย็นก็ยังไม่ให้แช่เนื้อสัตว์เลย" โดยผู้ไม่หวังดีได้พูดยกเป็นกรณีตัวอย่างออกอากาศทางโทรทัศน์, วิทยุ และการอภิปรายสัมมนาต่างๆ ซึ่งคำพูดเท็จดังกล่าวเป็นการทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของคุณพ่อและวงศ์ตระกูล ผมขอเรียนว่าไม่เป็นความจริงเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวผมเองหรือน้องๆผมทุกคน ไม่มีทางจะไปเลื่อมใสในตัวโพธิรักษ์ สันติอโศกไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น เพราะผมและน้องๆทุกคนรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีโพธิรักษ์ สันติอโศกเป็นอย่างดี เพราะคุณพ่อได้ทำหนังสือวิเคราะห์กรณีโพธิรักษ์ อัครมหาโจรกับหนังสือผีบุญอาละวาด ออกเผยแพร่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อผมได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศอย่างมากมาย และท่านได้อบรมสั่งสอนลูกๆทุกคนให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมที่ดีงามตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมและน้องๆทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน พวกเราลูกๆทุกคนของคุณพ่อเชื่อฟังและปฏิบัติตามมาโดยตลอด
        ซึ่งคำพูดกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีนั้น ไม่มีทางและไม่มีวันที่ลูกๆทุกคนของคุณพ่อพิทูร มลิวัลย์จะทำเช่นนั้น ถึงผู้ไม่หวังดีจะพยายามกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสียังไง ก็ไม่มีทางจะเปลี่ยนแปลงความจริงทางประวัติศาสตร์ได้หรอกครับ หยุดเถอะครับ สิ่งที่คุณทำมันเป็นบาปกรรมติดตัวคุณไปตลอดจนวันตาย
ซึ่งทั้งหมดของข้อมูลคำพูดเท็จดังกล่าวของผู้ไม่หวังดีนั้น ท่านที่เคยได้ดูได้ฟังมาก็จะเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณพ่อพิทูร มลิวัลย์และผมกับน้องๆทุกคน ผมจึงอยากชี้แจงให้ทุกท่านเข้าใจตรงกันว่า "คำพูดเหล่านั้นล้วนเป็นคำพูดเท็จ เป็นความเท็จทั้งสิ้น ไม่มีความจริงเลยครับ" ผมเองก็เพิ่งทราบเรื่องนี้ ซึ่งถ้าท่านใดทราบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม กรุณาส่งข้อมูลมาได้ที่ อีเมลนี้ครับ จะขอขอบคุณมากครับ
จึงขอเรียนให้ทุกท่านทราบโดยทั่วกัน ผมขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นเพื่อนแท้คุณพ่อและผู้ที่เคารพนับถือคุณพ่อ รวมทั้งศิษยานุศิษย์คุณพ่อทุกคน ที่ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจที่ดีของผมพร้อมทั้งคุณแม่และน้องๆทุกคนครับ
      ท้ายนี้ ผมและน้องๆทุกคนรวมทั้งคุณแม่ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้งไปยัง
-คุณหญิงดิษฐการภักดี(คุณหญิงสายหยุด เก่งระดมยิง)และครอบครัว ที่ช่วยเหลือและปรารถนาดีกับคุณพ่อ ตั้งแต่เมื่อครั้งคุณพ่อยังเป็นพระเลขานุการในพระพิมลธรรม [สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถระ)] เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จนลาสิกขาออกมามีครอบครัว
-พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่ท่านได้ให้โอกาสทางการเมืองกับคุณพ่อ
-คุณลุงบุญพฤกษ์(ศาสตราจารย์ ดร.บุญพฤกษ์ จาฏามระ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน) ที่ช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งเมื่อครั้งคุณพ่อป่วย
-คุณลุงประเสริฐ(ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน, อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย) ที่ท่านและที่ประชุมราชบัณฑิตสาขาศิลปกรรมได้พิจารณาผลงานของคุณพ่อ ว่าสมควรเป็นราชบัณฑิตในสาขาศิลปกรรมได้แล้ว
 

นายภูริวัฒน์ มลิวัลย์ บุตรชาย

ประวัติและผลงานของ อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์



ประวัติและผลงานของ อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์

       อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์ นามเดิม พรหมา มลิวัลย์ (โม้แกว) เกิดวันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2467 ที่ตำบลกุดยม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ บิดาชื่อ นายทา โม้แกว มารดาชื่อนางชื่น โม้แกว เป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน
เมื่อสมัยท่านเป็นเด็กได้อาศัยอยู่กับพี่สาวคนที่ 2(นางบุญ มลิวัลย์) ซึ่งได้เลี้ยงดูท่าน ท่านจึงนับถือเสมือนมารดาแท้ๆ เพราะบิดามารดาแท้ๆได้เสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก ท่านเป็นคนที่ชอบทำอะไรด้วยตนเอง ช่วยเหลือตนเองมาโดยตลอด และเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดเกินเด็กอื่นในละแวกนั้น อีกทั้งท่านยังชอบช่วยเหลือผู้อื่น จึงเป็นที่รักใคร่ของทุกๆคน ท่านได้เข้าศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนประชาบาล วัดโพธิชัย อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
     จากนั้นเมื่อท่านอายุได้ 16 ปี ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพธิชัย อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ท่านศึกษาพระธรรมวินัยที่สำนักเรียนวัดบริบูรณ์ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ และในปีพ.ศ. 2483 ก็สอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่วัดทรงศิลา อ.เมืองจ.ชัยภูมิ ท่านศึกษาพระธรรมวินัยที่นั่นจนสอบได้นักธรรมชั้นโท-เอก ในปีพ.ศ. 2484 และปีพ.ศ. 2486 ตามลำดับ
ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในปีพ.ศ. 2487 ท่านก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบัวบาน จ.ชัยภูมิ ได้นามฉายาว่า " ปญฺญาทีโป " และในปีพ.ศ.2488 ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดฝาง จ.ขอนแก่น และเริ่มศึกษาภาษาบาลีที่สำนักเรียนวัดธาตุ อ.เมืองจ.ขอนแก่น จนสอบได้เปรียญธรรมประโยค 3 ที่นั่น
ต่อมาพระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป ท่านได้ย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2490 ได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่นี่ และสอบได้เปรียญธรรมดังนี้
พ.ศ.2490 สอบได้ ป.ธ.4
พ.ศ.2491 สอบได้ ป.ธ.5
พ.ศ.2492 สอบได้ ป.ธ.6
พ.ศ.2493 สอบได้ ป.ธ.7
พ.ศ.2495 สอบได้ ป.ธ.8
พ.ศ.2496 สอบได้ ป.ธ.9
      ซึ่งขณะที่ท่านได้อยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์นี้ ได้ประกอบคุณงามความดีไว้หลายๆด้านด้วยกัน ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง ท่านจึงได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งต่างๆอาทิ
ปีพ.ศ.2492 -ท่านเป็นอาจารย์โรงเรียนบาลีมัธยมศึกษา ซึ่งเปิดเป็นครั้งแรกในปีนั้น
ปีพ.ศ.2494 -ท่านเป็นเลขานุการเจ้าคณะตรวจการณ์ ผู้ช่วยภาค 3
ปีพ.ศ.2496 -ท่านเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
-ท่านเป็นกรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวง
-ท่านเป็นกรรมการตรวจชำระพระคำภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา
ปีพ.ศ.2497 -ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบาลีมัธยมศึกษา
-ท่านเป็นรองผู้อำนวยการบาลีมหาธาตุวิทยาลัย
-อีกทั้งท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
-ท่านเป็นเลขานุการในพระพิมลธรรม [สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถระ)] เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
-ท่านเป็นผู้แทนคณะสงฆ์และรัฐบาลไทยเดินทางไปร่วมการทำฉัฏฐสังคายนา ที่สหภาพพม่า ซึ่งทางสหภาพพม่าเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง จึงยกย่องให้ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลี
ในปีพ.ศ.2500 พระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ " พระปิฎกโกศล "
ในปีพ.ศ.2507 ท่านได้ลาสิกขา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น " พิทูร มลิวัลย์ " โดยท่านได้ใช้นามสกุลของพี่สาวคนที่ 2(นางบุญ มลิวัลย์)ซึ่งท่านนับถือเสมือนมารดา จากนั้นท่านได้สมรสและมีบุตร-ธิดา รวม 4 คน
หลังจากท่านลาสิกขา ท่านก็ได้เข้ารับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ และจากนั้นได้ย้ายไปทำงานที่กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ จนได้ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปริยัติปกรณ์ ระหว่างที่ท่านทำงานที่นี่ท่านก็ไม่เว้นที่จะใฝ่หาความรู้ ได้สมัครเข้าศึกษาจนเรียนสำเร็จเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกทั้งมีผลงานทางด้านวิชาการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ตำราเรียน อีกทั้งบทความต่างๆ และได้เป็นวิทยากรทางรายการโทรทัศน์ ชื่อรายการ " ธรรมะกับเยาวชน " รวมถึงได้รับเชิญเป็นวิทยากรทางรายการวิทยุหลายรายการ จากความรู้ความสามารถที่ปรากฎ จึงได้รับเกียรติจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนที่นั่น
      จากความที่เป็นข้าราชการที่มีประวัติการทำงานที่ดี ขยัน ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และมีผลงานต่างๆมากมาย ทางกรมการศาสนาเล็งเห็นข้อนี้ จึงให้เกียรติยกย่องท่านเป็นข้าราชการตัวอย่าง เพราะมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อม
และท่านยังได้รับเกียรติจากนายสวัสดิ์ คำประกอบ ให้ท่านเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อท่านอายุ 60 ปี ก็ได้เกษียณอายุราชการ แต่ท่านก็ยังไม่ละทิ้งงานทางด้านต่างๆ ยังเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษนิสิตปริญญาตรี-โท ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ท่านได้เป็น
-ท่านเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาจารึกภาษาไทยและวรรณกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะโบราณคดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517-2535
-ท่านเป็นอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์และกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อักษรและวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-ท่านเป็นกรรมการร่างหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจารึกภาษาไทย
-ท่านเป็นวิทยากรฝึกภาคสนามและสำรวจค้นคว้า เกี่ยวกับจารึกและภาษาถิ่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคณะโบราณคดี
ทางสภามหาวิทยาลัยศิลปากรเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง จึงอนุมัติ " ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก " เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2530
อีกทั้งท่านยังได้เป็น
-ท่านเป็นกรรมการของราชบัณฑิตยสถาน
-ท่านเป็นกรรมการในสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
ฯลฯ
      ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานของท่าน ท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา การศึกษา และประเทศชาติมากมายนับคณา ท่านรักและภูมิใจมากไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ตำราเรียน และอื่นๆ โดยเฉพาะพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยท่านเป็นกรรมการตรวจชำระตั้งแต่เริ่มต้น เรื่อยมาจนสำเร็จ (ประวัติพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
     อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์ ได้ล้มป่วยและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลนนทเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งขณะที่ท่านได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนนทเวชนั้น ท่านบุญพฤกษ์ จาฏามระ(นายกราชบัณฑิตยสถาน)ได้มาเยี่ยมโดยตลอด และทางครอบครัวอาจารย์พิทูร มลิวัลย์ได้ปรึกษากันกับท่านว่ารักษาตัวอยู่ที่นี่นานแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ท่านจึงให้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยท่านได้จัดหาห้องVIPที่ดีที่สุดของที่นั่นให้ และท่านยังได้ฝากให้เป็นคนไข้พิเศษของคุณหมอใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถสูงคือ นพ.กฤษณ์ จาฏามระ(บุตรชายของท่านบุญพฤกษ์) (นายแพทย์ท่านนี้ ที่รักษาอาการป่วยของ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ) ซึ่งคุณหมอท่านได้ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษจนวินาทีสุดท้าย
อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์ ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคมะเร็งและไตวาย ในวันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2535 เวลา 8.30 น.ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่ครอบครัว ญาติมิตร ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ทางวิชาการและพระพุทธศาสนาของชาติ
-งานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพ อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
-งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์ ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2535 ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ อาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์ ได้รับ
1. ตริตาภรณ์ช้างเผือก
2. ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
3. จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
4. เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
ผลงานต่างๆของอาจารย์ ดร.พิทูร มลิวัลย์
ผลงานทางวิชาการ
-พ.ศ. 2502 ปฏิจจสมุปบาท
-พ.ศ. 2521 โพธิปักขิยธรรม
-พ.ศ. 2522 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
-พ.ศ. 2523 คู่มือการศึกษาธรรมจากบทสวดมนต์-โรงเรียน
-พ.ศ. 2524 คู่มือการศึกษาพระปฐมสมโพธิกถา
-พ.ศ. 2524 พิธีกรรมสำหรับโรงเรียน
-พ.ศ. 2525 หลักธรรมสำหรับการปกครอง
-พ.ศ. 2525 สภาวธรรมพื้นฐาน ตอน 1, 2
-พ.ศ. 2525 แนะแนวการสอนนักธรรม
-พ.ศ. 2526 สภาวธรรมพื้นฐาน ตอน 3, 4
-พ.ศ. 2526 หลักธรรมสำหรับพัฒนามนุษยสัมพันธ์
-พ.ศ. 2526 แนะแนวแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี, โท, เอก
-พ.ศ. 2526 แบบเรียนวิชาพุทธประวัตินักธรรมชั้นตรี
-พ.ศ. 2526 แบบเรียนวิชาสาวกประวัติ นักธรรมชั้นโท, เอก
-พ.ศ. 2527 ศาสนาพื้นฐาน ตอน 2
-พ.ศ. 2527 พระพุทธศาสนาสำหรับเยาวชน ตอน 1, 2, 3
-พ.ศ. 2527 หลักธรรมสำหรับพัฒนาชีวิต
-พ.ศ. 2527 สภาวธรรมพื้นฐาน ตอน 5, 6
-พ.ศ. 2528 สภาวธรรมพื้นฐาน ตอน 7, 8, 9
ฯลฯ
ผลงานทางวิชาการดีเด่น ที่เกี่ยวกับจารึกภาษาไทย และภาษาถิ่น ตรวจชำระ
-ไตรภูมิโลกวินิจฉัย เล่ม 1, 2, 3 ของพระยาธรรมปรีชา(แก้ว)
-ไตรภูมิกถา(ไตรภูมิพระร่วง) ฉบับพระยาลิไท (ตรวจชำระและทำเชิงอรรถประกอบ)
-มหาเวสสันดรชาดก (เทศมหาชาติ 13 กัณฑ์)
-มรดกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นงานค้นคว้าเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง ได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดวรรณกรรมดีเด่น ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด และเป็นหนังสือคำสอนประกอบวิชาวรรณกรรมสุโขทัย ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ
-ขุนทึง นิทานท้องถิ่นแต่งเลียนแบบชาดก
-อินทิญาณสอนลูก สุภาษิตคำสอน
-พระเชตุพน การสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย
-หน้าผากไกลกระด้น นิทานท้องถิ่นเลียนแบบชาดก
-พระมหาเวสสันดรชาดก ฉบับภาษาอีสาน 13 กัณฑ์
-พระยาปัสเสนทิ์ คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
-สังข์ศิลป์ชัย นิทานท้องถิ่นเลียนแบบชาดก
-ธรรมสอนโลก สุภาษิตคำสอนทั่วไป
-เชียงเหมี้ยง ศรีธนญชัยฉบับภาคอีสาน
ผลงานที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ
-ท่านเป็นกรรมการตรวจชำระพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
-ท่านเป็นกรรมการสัมมนาศิลาจารึกหลักที่ 1 และหลักที่ 2 ของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ
-ท่านเป็นกรรมการตรวจชำระและแปลศิลาจารึก ของสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในงาน 700 ปีลายสือไทย
-ท่านเป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย ของราชบัณฑิตยสถาน
-ท่านเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ทางด้านศาสนาวัฒนธรรม สังคมและการพัฒนาชนบท ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
-ท่านเป็นอนุกรรมการจัดทำพจนานุกรม ภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
-ท่านเป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน โครงการรวมวรรณกรรรมอาเซียน
-ท่านเป็นอนุกรรมการจัดทำโสตทัศนูปกรณ์ เพื่อการศึกษาและเผยแพร่ศาสนา ของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
-ท่านเป็นอาจารย์สอนพิเศษ วิชาภาษาและวรรณกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับปริญญาตรีและโทของมหาวิทยาลัยต่างๆ
-ท่านเป็นผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์และสอบวิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ


ผม นายภูริวัฒน์ มลิวัลย์ บุตรชายคนโตของคุณพ่อพิทูร มลิวัลย์ ในนามครอบครัวของท่านพร้อมทั้งศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่าน มีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ประวัติและผลงานของคุณพ่อผม เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง เพราะมีบางท่านเข้าใจประวัติและผลงานของคุณพ่อคลาดเคลื่อน ซึ่งได้คัดลอกมาจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของคุณพ่อพิทูร มลิวัลย์ และจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้แทรกรายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติม
ผมขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า เมื่อไม่นานมานี้ลูกศิษย์ของคุณพ่อได้เล่าให้ผมฟังว่า ได้มีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างตนว่าเป็นเพื่อนคุณพ่อ กล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีคุณพ่อและลูกๆท่าน ว่า "ลูกชายอาจารย์พิทูร มลิวัลย์เลื่อมใสศรัทธาในตัวโพธิรักษ์ สันติอโศก ไม่ว่าคนในครอบครัวหรือแม้แต่คุณพ่อเองจะว่ากล่าวเท่าใดก็ไม่เชื่อฟัง แม้แต่ในตู้เย็นก็ยังไม่ให้แช่เนื้อสัตว์เลย" โดยผู้ไม่หวังดีได้พูดยกเป็นกรณีตัวอย่างออกอากาศทางโทรทัศน์, วิทยุ และการอภิปรายสัมมนาต่างๆ ซึ่งคำพูดเท็จดังกล่าวเป็นการทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของคุณพ่อและวงศ์ตระกูล ผมขอเรียนว่าไม่เป็นความจริงเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวผมเองหรือน้องๆผมทุกคน ไม่มีทางจะไปเลื่อมใสในตัวโพธิรักษ์ สันติอโศกไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น เพราะผมและน้องๆทุกคนรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีโพธิรักษ์ สันติอโศกเป็นอย่างดี เพราะคุณพ่อได้ทำหนังสือวิเคราะห์กรณีโพธิรักษ์ อัครมหาโจรกับหนังสือผีบุญอาละวาด ออกเผยแพร่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อผมได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศอย่างมากมาย และท่านได้อบรมสั่งสอนลูกๆทุกคนให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมที่ดีงามตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมและน้องๆทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน พวกเราลูกๆทุกคนของคุณพ่อเชื่อฟังและปฏิบัติตามมาโดยตลอด